วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2555

ประวัติความเป็นมา


หุ่นหลวงถือเป็นการแสดงหุ่นที่มีกำเนิดมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น โดยมีหลักฐานจากศักดินาทหารหัวเมือง ประกาศใช้ พ.ศ. 1919 ในสมัยพระบรมราชาธิราชที่ 1 ได้เอ่ยถึงหลวงทิพยนต์ช่างหุ่น อันเป็นตำแหน่งช่างหุ่นในช่างสิบหมู่ ในสมัยกรุงธนบุรีก็มีปรากฏในหมายรับสั่ง โดยกล่าวถึงขุนทิพยนต์ซึ่งมีหน้าที่เชิดหุ่น จึงสันนิษฐานว่าหลวงทิพยนต์คนใดคนหนึ่งในสมัยอยุธยาตอนต้น อาจจะคิดทำตัวหุ่นเลียนแบบตัวละครที่แสดงอยู่ในสมัยนั้น และนำออกเชิดแสดงเป็นเรื่องราว กลไกสายใยในตัวหุ่นอาจได้ความคิดมาจากการผูกหุ่นพยนต์ และลีลาการเชิดก็เลียนแบบหนังใหญ่ที่แสดงกันอยู่ในสมัยนั้น ถ้าจะจำกัดสมัยที่เกิดหุ่นหลวงให้แคบเข้า หุ่นหลวงน่าจะเกิดหลัง พ.ศ. 1919 เพราะในศักดินาพลเรือนครั้งกรุงเก่าไม่เอ่ยถึงพนักงานหุ่น และหุ่นหลวงต้องเกิดก่อนปี พ.ศ. 2230 อันเป็นปีที่บาทหลวงลาลูแบรได้มาเห็นหุ่นในสยาม ปัจจุบันไม่มีผู้ใดทราบวิธีการเชิดหุ่นหลวงแล้ว นอกจากจะสันนิษฐานจากภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ช่างแต่ก่อนได้เขียนไว้เพื่อแสดงถึงการมหรสพต่างๆที่มีเล่นในงานสมโภชเท่านั้น




            ตัวหุ่นตั้งแต่ปลายยอดชฎาจนถึงปลายเท้ามีความสูงประมาณ 1 เมตร ทั้งนี้ไม่นับแกนไม้สำหรับถือตัวหุ่นซึ่งต่อยาวลงไปอีก ตัวหุ่นทำด้วยไม้ช่วงลำตัวส่วนหนึ่ง และช่วงสะโพกอีกส่วนหนึ่ง ทั้งอกและสะโพกนี้เป็นไม้คว้านจนบางเบาดี ช่วงเอวเป็นเส้นหวายขดเป็นวงซ้อนกันต่อระหว่างอกกับสะโพกเพื่อให้หุ่นเคลื่อนไหวยักสะเอวได้ 

แขนหุ่นหลวงมี 4 ส่วน คือ จากต้นแขนถึงข้อศอกส่วนหนึ่ง จากข้อมือถึงข้อศอกส่วนหนึ่ง ตรงข้อมืออีกส่วนหนึ่ง และเฉพาะฝ่ามืออีกส่วนหนึ่ง ชิ้นส่วนเหล่านี้ต่างได้รับการบากให้เป็นแง่มุมในอันที่จะสะดวกต่อการขยับเคลื่อนไหว นิ้วทั้ง 3 นิ้ว คือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง ล้วนขยับได้ ยกเว้นนิ้วหัวแม่มือ และนิ้วก้อย ที่ปลายเล็บทั้ง 4 นั้น ทำเล็บเป็นทองยาวต่อออกมาจากปลายนิ้ว ที่ฝ่ามือเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยมสำหรับผูกเส้นเชือก และทำกลไกบังคับให้นิ้วขยับได้ โดยมีผ้าชิ้นเล็กๆสีเดียวกับมือหุ่นปิดบนช่องสี่เหลี่ยมอีกทีหนึ่ง เส้นเชือกเหล่านี้จะร้อยผ่านไปตามข้อมือ และลำแขนเข้าสู่ภายในลำตัวหุ่น หากนับรูที่ต้นแขนจะมีรู้เจาะสำหรับสายเชือกชักเฉพาะแขน และมือนี้ 11 รู
ส่วนขาของหุ่นหลวงมี 2 ส่วน คือ จากต้นขาถึงเข่าส่วนหนึ่ง และจากเข่าถึงปลายเท้าอีกส่วนหนึ่ง ปลายเท้านี้มักจะแกะเป็นเท้าที่สวมรองเท้าปลายงอนสำหรับตัวพระ และยักษ์ ตัวนางไม่นิยมทำขาเพราะนุ่งผ้ากรอมไม่เห็นขา ส่วนตัวลิงก็แกะเป็นตีนลิง ฝ่าเท้านี้แกะติดกับส่วนแข้งไม่มีการกระดิกเคลื่อนไหว สายชักมีตั้งแต่ 1-3 สาย สายชักเหล่านี้จะออกมาจากส่วนก้นของหุ่น พร้อมทั้งแกนไม้ยาวสำหรับคนเชิดจับ และมีก้านไม้ขนาดย่อมอีกอันหนึ่งที่ต่อยาวลงมาจากส่วนคอของหุ่น สำหรับบังคับให้หุ่นหันหน้าไปมาได้
ศีรษะหุ่นหลวงมี 2 ชนิด คือ แบบที่หน้าหุ่นกับคอหุ่นเป็นชิ้นเดียวกัน และหน้าหุ่นที่ทำเฉพาะส่วนหน้าอย่างหัวโขน โดยแบบประเภทของวัสดุที่ใช้ทำดังนี้
1. แกะด้วยไม้ โดยมากมักเป็นหัวหุ่นตัวพระ ตัวนาง และยักษ์บางตัว แกะด้วยไม้เนื้อเบาทั้งหัวและคอ คว้านจนบางและเบาดี เท่าที่พบมักคว้านจากทางท้ายทอยด้านหลังของศีรษะ ที่เป็นหน้าพระหน้านางแกะเป็นหน้า "ทรงมะตูม" ทั้งสิ้น แล้วปิดกระดาษเขียนสี มีเส้นทอง เส้นฮ่อ และพรายปากอย่างหน้าโขนทุกประการ ชฎาหัวพระมักทำชั้นเชิงบาตรติดกับหัวหุ่นไปเลย ไม่ทำชฎามาสวมต่างหากเหมือนอย่างหัวหุ่นกระบอกบางคณะ ส่วนหัวนางมีทั้งที่สวมมงกุฎกษัตรีย์ และรัดเกล้า ส่วนหน้ายักษ์ก็แกะคว้านด้วยไม้เช่นกัน แต่ปั้นหน้าแต่งเติม คิ้ว ตา จมูก และพรายปากด้วยรักแล้วปิดกระดาษเขียนสีมีเส้นทอง เส้นฮ่ออย่างหน้าโขน รวมทั้งมงกุฎ และจอนหูก็ประดับด้วยลวดลายกระจัง ปิดทอง ประดับกระจกเกรียบเหมือนหัวโขนทั้งสิ้น



2. หัวกระดาษ อันได้แก่หัวลิง และหัวยักษ์บางหัว ที่ทำอย่างหัวโขน คือ ไม่มีคอต่อลงมา แต่นำไปเย็บติดกับคอผ้าซึ่งเป็นถุงทรงกระบอกที่นำมาสวมปิดแป้นไม้กับแกนไม้ไว้ หัวเหล่านี้ทำเหมือนหัวโขนทุกอย่าง
หัวหุ่นหลวงเหล่านี้แม้จะมีขนาดใหญ่กว่าหัวหุ่นกระบอก แต่ก็มีน้ำหนักเบากว่ามาก ฝีมือการประดิษฐ์ก็ล้วนวิจิตรประณีต สมกับที่ได้ชื่อว่า "หุ่นหลวง" โดยแท้
 
              เครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับของหุ่นหลวงก็คล้ายกับเครื่องแต่งกายของโขน ละคร ตัวพระ และตัวยักษ์ใส่เสื้อแขนยาว มีอินทรธนู และชายไหว ชายแครง รัดสะเอว ตลอดจนนุ่งโจงกระเบนมีหางหงส์สำหรับตัวพระ และผ้าปิดก้นสำหรับตัวยักษ์ 
 
              การเย็บปักใช้เลื่อมเงินเลื่อมทอง และตรึงแผ่นเงินพับสานขัดกันไปมาเป็นแถบยาว เรียกว่า "นมสาว" โดยตรึงไหมทองเป็นลวดลายล้อไปตามเลื่อมเหล่านี้ ส่วนเครื่องประดับ เช่น ทับทรวง ตาบทิศ ปั่นเหน่ง เป็นตะกั่วหล่อเป็นลายโปร่ง บางอันก็เป็นโลหะหรือหนังเลื่อยฉลุ แล้วติดลวดลายด้วยรัก ปิดทอง ประดับกระจกเกรียบไม่มีตุ้งติ้งห้อยส่วนล่างของทับทรวง 




ลักษณะตัวหุ่น

               ตัวหุ่นกระบอกก็คือไม้กระบอกหรือไม้ไผ่นั่นเองมีไหล่ทำด้วยไม้เจาะรูสำหรับเสียบไม้กระบอกแกนตัว และเสียบหัวหุ่น เสื้อหุ่นเป็นผ้าผืนเดียวกันพับครึ่งเย็บเป็นถุงคลุมไหล่หุ่น เจาะตรงคอสำหรับเสียบหัวและตรงมุมผ้า 2 ข้างสำหรับมือหุ่นโผล่ มือหุ่นทั้ง 2 ข้างมีไม้ไผ่เหลาเล็กเสียบต่อจากมือลงมาสำหรับจับเชิด ยาวระดับเดียวกับปลายเท้าด้านล่าง ไม้ไผ่นี้เรียกกันว่า "ตะเกียบ" หุ่นกระบอกแต่ละคณะจะมีสัดส่วนเท่ากันโดยประมาณดังนี้ ไหล่หุ่นยาวจากปลายถึงปลาย 5 นิ้ว ไม้กระบอกยาวจากไหล่ถึงปลายไม้ 8 นิ้ว เสื้อหุ่นจากปลายเสื้อด้านล่างถึงไหล่ 14 - 15 นิ้ว จากปลายมือข้างหนึ่งถึงอีกข้างหนึ่ง 17 - 20 นิ้ว ตะเกียบ 15 - 16 นิ้ว ผ้าห่มนาง กว้าง 8 นิ้ว ยาว 16 นิ้ว จากจีบชายพกถึงคอ 5 นิ้ว

มือหุ่น

หุ่นตัวพระ มือขวาจะถืออาวุธไว้เสมอ จึงมักแกะด้วยไม้มีรูสำหรับเสียบอาวุธเปลี่ยนได้ไปตามเรื่อง เช่น ถือปี่ ถือศร ถือพระขรรค์ ส่วนมือซ้ายก็ตั้งวงอย่างละคร ส่วนมือนางโดยมากจะตั้งวงรำทั้งสองข้าง มีที่มือขวาถืออาวุธบ้าง ถือพัดบ้างเป็นบางตัว มือหุ่นจะแกะด้วยไม้เนื้อเบาทั้งมือซ้าย และมือขวา มีบางที่ทำด้วยหนังที่แช่น้ำจนนุ่ม แล้วนำมาขูดจนบางดีจึงตัดผ่าให้เป็นรูปมือมีนิ้วแล้วดัดด้วยลวดให้อ่อนเหมือนมือละครกำลังรำ เมื่อนำไปตากแดดจนแห้งแข็งดีแล้วจึงเอาลวดออก นำมาติดกับข้อมือที่ทำด้วยไม้ แล้วปิดกระดาษให้ทั่ว จึงทาสีฝุ่นให้เหมือนกับสีผิวหน้าหุ่น

วิธีประดิษฐ์
ศีรษะหุ่นที่แกะด้วยไม้ มักใช้ไม้เนื้อเบาเช่นไม้ลำพู ไม้นุ่น ไม้ทองหลาง ไม้โมก ที่แกะด้วยไม้สักก็มีบ้างเมื่อแกะหน้าหุ่นแล้วปั้นแต่งด้วยรักหรือดินเรียบร้อยแล้วจึงปิดด้วย "กระดาษสา" ฉีกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วทาด้วยแป้งเปียกหรือกาวปิดจนทั่วชั้นหนึ่งรอจนหมาด แล้ว "กวด" โดยใช้ไม้หรือด้ามพู่กันกวดให้เรียบทุกซอกทุกมุม ตา จมูก ปาก แล้วปิดกระดาษสาอีกจนครบ 3 ชั้น โดยกวดทุกชั้นจนผิวเรียบแน่นดีจึงทาสีฝุ่นสีขาว(ปัจจุบันใช้สีพลาสติก)สัก 3 ชั้น รอจนแห้งสนิทดีแล้วขัดผิวหน้าหุ่นด้วยใบลิ้นเสือ(ปัจจุบันใช้กระดาษทรายน้ำ) แล้วจึงเขียนสีพลาสติก)สัก 3 ชั้นรอจนแห้ง สนิทดีแล้วขัดผิวหน้าหุ่นด้วยใบลิ้นเสือ (ปัจจุบันใช้กระดาษทรายน้ำ) แล้วจึงเขียนสี

การเขียนสี

สีที่ใช้เขียนคือสีฝุ่น หน้าหุ่นตัวพระตัวนางลงพื้นด้วยสีฝุ่นสีขาว หรือสีขาวนวลเป็นบางตัวส่วนหัวยักษ์ หัวลิงก็ต้องลงพื้นสีขาวด้วยเช่นกันเมื่อขัดเรียบดีแล้ว จึงจะลงสีไปตามพงศ์หน้าหุ่นแต่โบราณเขียนด้วยสีฝุ่นทั้งนั้น และเมื่อเขียนแล้วตกแต่งเสร็จจะเข้าพิธีไหว้ครู อันถือเป็นการเบิกพระเนตรหุ่น ซึ่งจะไม่มีการล้างหน้าหุ่นออก เมื่อนำออกแสดงหลายๆครั้งเข้าก็จะเลอะเทอะเปรอะเปื้อนไป ก็เช็ดล้างไม่ได้เพราะเป็นสีฝุ่น เจ้าของคณะซึ่งไม่ใช่ช่างหรือไม่มีช่างอยู่ในคณะ ก็จะทาสีฝุ่นทับรอยชำรุด เปรอะเปื้อนนี้ลงไปครั้งแล้วครั้งเล่าบางครั้งก็เขียนหน้าตาทาปากทับฝีมือหุ่นช่างเดิมจนในที่สุดหน้าหุ่นก็หนาเทอะทะ แลดูไม่มีเค้าความงามอันเก่าเหลืออยู่เลย ปัจจุบันการเขียนหน้าหุ่นกระบอกอาจใช้สีอะครีลิคแทนสีฝุ่น

เครื่องประดับศีรษะ

เครื่องประดับศีรษะหุ่นอันได้แก่ ชฎา รัดเกล้า มงกุฎกษัตรีย์ กระบังหน้า ปันจุเหร็จ ตลอดจนหัวช้างหัวม้าฯลฯ มักประดิษฐ์ด้วยวัสดุมีน้ำหนักเบา ชฎาตัวพระส่วนมากจะแกะชั้นเชิงบาตรติดกับศีรษะหุ่นไปเลย บางหัวก็ทำเป็นชฎามาสวมต่างหากส่วนรัดเกล้ามักจะกลึงไม้เนื้อเบาเป็นฐานรัดเกล้าทั้งอันปลียอดชฎา ยอดรัดเกล้า ยอดมงกุฎกษัตรีย์ เป็นไม้กลึงทั้งยอด ปันจุเหร็จ กระบังหน้า เปลวรัดเกล้า กรรเจียกจอนมักจะทำด้วยหนังบางๆ หรือสังกะสี ตอกฉลุเป็นลวดลาย แล้วเย็บตรึงด้านในด้วยโครงลวดอีกที การประดับลวดลาย ช่างแต่ก่อนใช้รักผสมขี้เถ้าใบตองเผา และส่วนประกอบอื่นๆอีกบ้าง ถือเป็นสูตรลับในสำนักของแต่ละช่าง เรียกกันว่า "รักตีลาย" รักตีลายนี้ใช้กดลงไปในแม่พิมพ์หินสบู่ ซึ่งแกะเป็นแม่พิมพ์ลวดลายต่างๆเรียบร้อยแล้ว เช่น ลายกระจัง ลายลูกแก้ว ลายกนก ลายก้านขด ฯ ล ฯ หินสบู่ที่ใช้แกะลายแม่พิมพ์นี้ ควรเป็นหินเนื้อละเอียด แกะง่าย ไม่แตก เครื่องมือที่ใช้แกะลายหินสบู่ โดยมากช่างมักใช้เครื่องมือแกะทอง เมื่อประดับกระจังและลวดลายเหล่านี้ไปตามชั้นเชิงบาตรปลียอด และส่วนอื่นๆเรียบร้อยแล้ว ช่างจะใช้ "รักน้ำเกลี้ยง" อันเป็นรักที่ใช้สำหรับปิดทองโดยเฉพาะ ทาชิ้นส่วนเหล่านี้ให้ทั่ว แล้วทิ้งไว้จนรักไม่เยิ้มหรือแห้งสนิทดีแล้ว จึงปิดทองคำเปลวให้ทั่วทุกซอกทุกมุมการตั้งรัดเกล้าสำหรับหุ่นตัวนางช่างจะถักผมคนจริงๆที่มีความยาวประมาณ10นิ้ว เข้าเป็นแผงติดกัน นำมาติดเป็นรูปวงกลมบนศีรษะหุ่น แล้วแหวกตรงกลางหน้าผากไปรวบที่ท้ายทอยหุ่น สวมที่รัดช้องจนแน่นหนาดี จึงติดกรรเจียกจอน และตั้งรัดเกล้าเป็นอันดับสุดท้าย




หัวภาษา

ได้แก่ หัวลาว หัวมอญ หัวพม่า หัวฝรั่ง หัวแขก ซึ่งมีประจำอยู่ทุกคณะหุ่นกระบอก หัวตัวตลกมักทำปากอ้าได้หุบได้ โดยมีเชือกดึงข้างในและมีห่วงอยู่ปลายเชือกบางตัวทำตาให้กลอกได้ โดยมีแกนลวดบังคับอยู่ภายในทั้งนี้จะมีเฉพาะแต่กับตัวตลกหรือตัวกากเท่านั้

การบังคับให้หุ่นเคลื่อนไหว

แยกพิจารณาได้ดังต่อไปนี้
1.  วิธีบังคับจากสายโยง วิธีนี้คนบังคับจะอยู่เหนือโรง และหุ่นที่บังคับด้วยสายโยงมักเป็นหุ่นที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนคนจริงแต่มีขนาดเล็ก โรงแสดงหุ่นก็จำลองให้มีขนาดเล็กสัมพันธ์กับขนาดของหุ่น สายโยงที่บังคับจะผูกติดกับอวัยวะต่างๆของหุ่น ห้อยลงมา
2.  วิธีบังคับด้วยมือ วิธีนี้จะสร้างตัวหุ่นให้ภายในกลวง ให้มือล้วงเข้าไปในหุ่นได้ และบังคับให้เคลื่อนไหวด้วยการเคลื่อนไหวของมือที่สอดเข้าไปในตัวหุ่น
3.  วิธีบังคับด้วยก้านไม้และสายโยง หุ่นประเภทนี้จะมีลักษณะคล้ายประเภทแรก ต่างกันที่กลไกบังคับตัวหุ่น คือมีก้านไม้เสียบติดตัวเป็นแกนและมีสายโยงติดกับอวัยวะต่างๆเพื่อบังคับให้เคลื่อนไหว
4.  วิธีบังคับด้วยก้านไม้และใช้เงาดำผสม ตัวหุ่นจะต่างจากหุ่นชนิดอื่นตรงที่ไม่มีความกลม มีลักษณะแบน ทำด้วยแผ่นหนัง แผ่นกระดาษ หรือแผ่นกระดาน เราเรียกหุ่นชนิดนี้ว่า "หุ่นหนัง" มีลวดลายฉลุอยู่บนตัวหุ่น การบังคับใช้ก้านไม้ติดตรึงกับตัวหุ่น คนเชิดจะชูตัวหุ่นไว้เหนือหัว เต้นพร้อมกับเชิดไปตามดนตรีและบทขับร้อง ในการแสดงต้องมีจอผ้าขาว ให้แสงสว่างอยู่เบื้องหลัง ให้เกิดเงาของหุ่นปรากฏบนจ
หุ่นหลวง  หุ่นรุ่นเก่าเรียกกันตามขนาดว่า "หุ่นใหญ่" ซึ่งเป็นชื่อภายหลังที่เกิดหุ่นขนาดเล็ก ที่เรียกว่า "หุ่นหลวง" เพราะเป็นของเจ้านายหรือในวังหลวง หุ่นหลวงมีขนาดสูงราว ๑ เมตร มีลำตัว แขน ขา และแต่งตัวเช่นเดียวกับละคร  ภายในตัวหุ่นทำสายโยงติดกับอวัยวะของตัวหุ่น และปล่อยเชือกลงมารวมกันที่แกนไม้ส่วนล่าง เพื่อใช้ดึงบังคับให้เคลื่อนไหวได้แม้กระทั่งลูกตา  หุ่นรุ่นเก่าสุดมีปรากฏหลักฐานว่า อยู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย นอกจากนั้นยังเล่ากันสืบต่อมาว่า ทรงฝากฝีพระหัตถ์การทำหน้าหุ่นหลวงไว้คู่หนึ่ง เรียกกันว่า "พระยารักน้อย พระยารักใหญ่"
                 หุ่นหลวงนั้นแสดงเรื่องต่างๆ เช่นเดียวกับละครในที่ให้นางในเป็นผู้แสดงทั้งตัวพระตัวนาง มีเรื่องรามเกียรติ์ เรื่องอุณรุทธ เป็นต้น ลีลาการแสดงก็ไม่แตกต่างจากละคร  ในการเล่นหุ่นมีการขับร้องและการบรรเลงดนตรีประกอบ คือ มีวงปี่พาทย์อันประกอบด้วยระนาด ฆ้องวง เปิงมาง กลองใหญ่ กลองกลาง กลองเล็ก ฉิ่ง ฉาบ ตะโพน บางแห่งมีวงปี่พาทย์ถึง ๒ วง คนเจรจา ๔ คน หรือ ๕ คน ต่างคนต่างฟังต่างดูกัน จึงเข้าใจเรื่องราวและชักหุ่นออกท่าทางพร้อมการเจรจาไปด้วยกันได้ดี



             
ลักษณะโรงและฉาก
มีหลักฐานที่พอจะอ้างอิงเกี่ยวกับลักษณะฉาก และโรงหุ่นหลวงอยู่ 2 ประการ ดังนี้
1. จากภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่แสดงให้เห็นการเล่นหุ่นหลวงในงานมหรสพต่างๆ
จิตรกรรมฝาผนังที่เขียนแสดงให้เห็นการแสดงหุ่นหลวง ได้แก่ ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนไว้อันเป็นฝีมือช่างเขียนในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ประมาณสมัยรัชกาลที่ 3-4 เท่าที่พบมีที่วัดโพธิ์ วัดทองธรรมชาติ วัดโสมนัสวรวิหาร วัดมัชฌิมาวาส (จ.สงขลา) วัดพระแก้ว ภาพจิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้ เขียนแสดงการละเล่นหุ่นหลวงในงานสมโภช และงานศพ เรื่องราวในภาพนั้นแสดงให้เห็นทั้งโรง และฉากของหุ่นหลวงอันพอจะสรุปได้ดังนี้ ฉาก เขียนเป็นเขาพระสุเมรุ มีวิมานอยู่บนยอดเขาหลังหนึ่งตรงกลาง และมีวิมานอยู่บนยอดเขาซ้ายขวาลดหลั่นลงมาอีกข้างละหลัง รวมทั้งหมดสามหลัง ตรงกลางฉากส่วนล่างที่ตรงกับวิมานหลังกลาง มีคล้ายๆกุฎีโผล่ออกมาจากช่องเขาตรงกลางหนึ่งหลัง กุฎีนี้ไม่ทราบว่าเขียนบนฉากหรือสร้างยื่นออกมาจากฉากจริงๆ ทั้งหมดนี้เขียนบนพื้นสีเข้มจัด มีเมฆอยู่ประปรายระหว่างวิมานอันเป็นส่วนบนของฉาก ภาพจิตรกรรมที่วัดมัชฌิมาวาสจะเขียนเป็นพระอาทิตย์ และพระจันทร์อยู่ข้างๆวิมานด้วย ประตูสำหรับหุ่นเข้าออกมีสองประตู อยู่ค่อนไปทางริมโรงทั้งสองด้าน มีม่านแหวกสีแดง บางโรงเขียนเป็นกำแพงมีใบเสมาต่อเป็นแนวเดียวกับประตูที่ว่านี้ สำหรับเวทีของหุ่นเป็นแผงที่มีขนาดสูงท่วมศีรษะคนเชิด เพื่อบังไม่ให้คนดูเห็นคนเชิด ให้เห็นแต่ตัวหุ่นที่คนเชิดยกชูโผล่พ้นขอบเวทีปรากฏอยู่หน้าฉาก ที่สุดกำแพงเมืองทั้งสองด้านทำเป็นกำแพงเมืองยื่นออกมาเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีใบเสมาสี่เหลี่ยมเหมือนใบเสมาตามป้อมกำแพงพระบรมมหาราชวัง บนป้อมกำแพงนี้ ด้านขวามือของคนดูทำเป็นปราสาทมียอดตั้งอยู่ ส่วนทางด้านซ้ายมือของคนดูจะทำเป็นพลับพลาไม่มียอดตั้งอยู่ สันนิษฐานว่าหุ่นหลวงแต่ก่อนคงนิยมเล่นเรื่องรามเกียรติ์กันมาก จึงทำฉากอย่างโขนหน้าจอหรือโขนนั่งราว คือ ทางขวามือของคนดูเป็น "ฝ่ายลงกา" ของทศกัณฐ์ และทางซ้ายมือของคนดูเป็น "ฝ่ายพลับพลา" ของพระราม
2. จากหมายรับสั่ง ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี จนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ไปจนถึงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 "หมายรับสั่ง" คือ คำสั่งในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่วนมากเกิดขึ้นโดยพระราชกรณียกิจ 2 ประการ คือ เมื่อจะเสด็จประพาสประการหนึ่ง หรือเมื่อจะทรงประกอบพระราชพิธีต่างๆอีกประการหนึ่ง เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจะรับพระบรมราชโองการหรือรับสั่งไปทำจดหมาย เพื่อรับหน้าที่ปฏิบัติงานให้ลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย คำสั่งปฏิบัตินั้นเรียกกันมาในสมัยโบราณว่า "หมายรับสั่ง"
          จากหมายรับสั่งในหมายรับสั่งสมัยกรุงธนบุรี จ.ศ. 1138 (พ.ศ. 2319) ทางด้านขวาของภาพระทา (เรือนสำหรับจุดดอกไม้ไฟที่อยู่บนหอสูง)มีคำอธิบายขนาดของโรงโขนระหว่างระทา และโรงโขนใหญ่ว่า "โรงโขนวางรธาขื่อกว้าง 8 ศอก ตงยาว 10 ศอก โรงโขนใหญ่ กว้าง 4 วา ยาว 7 วา สูง พื้น 2 ศอก สูงเดี่ยว 3 วา" ฉะนั้นโรงหุ่นระหว่างระทา และโรงหุ่นใหญ่ในสมัยกรุงธนบุรีก็น่าจะมีขนาดกว้างยาวใกล้เคียงกัน ในสมัยรัตนโกสินทร์ การมหรสพต่างๆได้มีการเล่นที่พิสดารออกไป เช่น มีการเล่นตัวชักรอก หรือเปลี่ยนฉากตามท้องเรื่อง ฉะนั้นโรงโขนหุ่นก็ย่อมมีขนาดกว้างยาวมากกว่าเดิม โรงโขนใหญ่สมัยกรุงธนบุรีกว้างเพียง 4 วา ยาว 7 วา ในสมัยรัชกาลที่ 5 โรงโขนยาว 12 วา สันนิษฐานว่าโรงหุ่นสมัยกรุงธนบุรียาวประมาณ 7 วา ในสมัยรัชกาลที่ 5 โรงหุ่นยาว 11 วา สังเกตได้ว่าโรงโขนโรงหุ่นในสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่มีพาไลรอบเหมือนโรงละคร และโรงละครชาตรี
เรื่องที่นิยมแสดง
สมัยอยุธยาตอนปลาย
เรื่องที่นิยมเล่นหุ่นหลวงในสมัยอยุธยาตอนปลายเป็นเรื่องละครนอก ได้แก่
1. ไชยทัต ในการสมโภชพระพุทธบาทในสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ์ หุ่นเล่นเรื่องไชยทัต ตอน "จรเสดจ์พนาพง ลอบล้อมมฤคยง อสุรท้าวกุเวรแปลง"มีการเล่นหุ่นซ้อนหุ่นในการมหรสพงานพระบรมศพพระเจ้าโกรพราช ในเรื่องพระวิฑูรบัณฑิตกลอนสวด หุ่นเล่นเรื่องไชยทัต ประชันกับสังสินไช เล่นไชยทัตตอน "ตองยานารี ผูมีไห้คลังไคล้ไป
2. สังสินไช (สังข์ศิลป์ชัย) หุ่นเล่นเรื่องสังสินไชประชันกับไชยทัตในงานพระศพพระเจ้าโกรพราช ในเรื่องพระวิฑูรบัณฑิตกลอนสวด "เล่นเรื้องขันมาร ผัวนางสุพันกัละยา สังสินไชเส่ดจไปตามอา รบกับยักษา พาอามาถึงบูรี"

สมัยกรุงธนบุรี
หุ่นหลวงในสมัยกรุงธนบุรีเล่นทั้งละครนอก และเรื่องรามเกียรติ์ ได้แก่
1. สังสินไช หุ่นเล่นเรื่องสังสินไชประชันกับเรื่องพระสูวันนะสัง ในงานอภิเษกพระสูทนกับนางมะโนรา
2. พระสูวันนะสัง
3. รามเกียรติ์ หุ่นเล่นเรื่องรามเกียรติ์ตอนพระมโหสถจัดการอภิเษกพระเจ้าวิเทหราชกับพระนางปัญจาลจันที (เป็นการแสดงหุ่นซ้อนหุ่น)

สมัยรัชกาลที่ 1
                หุ่นหลวงในสมัยรัชกาลที่ 1 เล่นเรื่องต่อไปนี้
1. ไชยทัต หุ่นหลวงเล่นเรื่องไชยทัตกับโสวัดประชันกันในงานถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิของสมเด็จพระชนกาธิบดี
2. โสวัด
3. ลินทอง ตอนสมโภชพระสุบิน
4. พระรศ หุ่นหลวงนั้นกระพริบตาก็ได้ อ้าปากก็ได้เป็นเหมือนจริง
5. รามเกียรติ์

 สมัยรัชกาลที่ 2
เรื่องที่เล่นหุ่นหลวงในสมัยนี้ มีทั้งละครนอก และรามเกียรติ์เช่นเดียวกับรัชกาลก่อนๆได้แก่
1. รามเกียรติ์ ในพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนาในรัชกาลที่ 2 ตอนอภิเษกจรกากับบุษบา เอ่ยถึงหุ่นหลวงเล่นเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระรามคลั่งฆ่านางสีดาถึงตอนปล่อยม้าอุปการ
2. สังขสินไชย ตอน "เล่นเรื้องขันมาร ผัวนางสุพันกัละยา สังสินไชเส่ดจไปตามอา รบกับยักษา พาอามาถึงบูรี"

สมัยรัชกาลที่ 3
ในสมัยรัชกาลที่ 3 ปรากฎในคำให้การของจีนกั๊กว่า หุ่นหลวงเล่นเรื่องรามเกียรติ์ และสันนิษฐานว่าหุ่นหลวงในรัชกาลนี้ คงเล่นเรื่องละครนอกเช่นเดียวกับรัชกาลก่อน

สมัยรัชกาลที่ 4
            มีทั้งรามเกียรติ์ และละครนอก ได้แก่
1. รามเกียรติ์ ในพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนาในรัชกาลที่ 2 ตอนอภิเษกจรกากับบุษบา เอ่ยถึงหุ่นหลวงเล่นเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระรามคลั่งฆ่านางสีดาถึงตอนปล่อยม้าอุปการ
2. พระอภัยมณี สันนิษฐานว่ากรมหุ่นคงสร้างหัวหุ่นเรื่องพระอภัยมณีในรัชกาลนี้ มีทั้งตัวพระอภัยมณี ศรีสุวรรณ นางสุวรรณมาลี สินสมุทร สุดสาคร และตัวพระฤาษี เป็นต้น
ในรัชกาลนี้ มีบทละครนอกเพิ่มขึ้นอีกหลายเรื่อง คงจะได้นำมาเล่นหุ่นหลวงด้วย

สมัยรัชกาลที่ 5
                 ตามหลักฐานที่ปรากฏในหมายรับสั่ง เอกสารสมัยรัชกาลที่ 5 ตลอดจนราชกิจจานุเบกษา หุ่นหลวงได้นำออกเล่นเสมอมาจนถึงปลายรัชกาล แต่หลักฐานเรื่องที่หุ่นหลวงเล่นมีน้อยมาก ดังนี้
1. รามเกียรติ์ ปรากฏหลักฐานในบทละครดึกดำบรรพ์เรื่องสังขศิลป์ชัยเข้าเมือง มีการเล่นมหรสพต่างๆ และหุ่นหลวงลงโรงเล่นเรื่องรามเกียรติ์ ตอนเข้าสวนพิราพ
2. พระอภัยมณี โขนหลวงของกรมมหรสพในสมัยต่อๆมา เล่นเรื่องรามเกียรติ์ตอนพระรามคืนเมือง จะมีโขนซ้อนโขน มีหนังมีหุ่น โดยหุ่นกระบอกจะเล่นเรื่องพระอภัยมณี สันนิษฐานว่าหุ่นหลวงจะต้องนิยมเล่นเรื่องพระอภัยมณีมาก่อนการแสดงโขนในตอนนี้

การอนุรักษ์หุ่นหลวง

การอนุรักษ์หุ่นหลวงโดย อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต และคณะ
หุ่นหลวงซึ่งเดิมเก็บรักษาไว้ในกองคลัง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ ต่อมาได้รับการซ่อมแซมโดย อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต และคณะ เมื่อ พ.ศ. 2527 - 2529 โดยได้รับการสนับสนุนทั้งหมดจากบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด
หุ่นหลวงรัตนโกสินทร์ศก 218
ด้วยปณิธานอันดีของ เสริมคุณ คุณาวงศ์ ผู้อำนวยการผลิตหุ่นหลวง ร.ศ. 218 ปลุกให้หุ่นหลวงกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ด้วยการศึกษาจากวรรณกรรมประวัติศาสตร์ เอกสารโบราณ งานจิตรกรรมฝาผนังโบราณ และศึกษาจากหุ่นหลวงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยมีอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต และคุณวัลภิศร์ สดประเสริฐ เป็นผู้ให้คำปรึกษาในการสร้างหุ่นหลวงครั้งนี้อย่างใกล้ชิด ในการจัดสร้างหุ่นหลวงครั้งนี้ ประกอบด้วยอาจารย์ภัทรไชย แสงดอกไม้ และทีมงาน ทำงานด้านการสร้างหุ่น อาจารย์สุรัตน์ จงดา พร้อมทีมงานดูแลด้านกลไก และกำกับการฝึกซ้อมการแสดงครั้งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญยิ่ง เพื่อก้าวต่อๆไปของการคืนชีวิตหุ่นหลวงอย่างแท้จริง

ที่มา :"หุ่นไทย" โดย อาจารย์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต